Thursday, November 15, 2012
toodtv
ประเพณีการแต่งงานในศาสนาอิสลาม คือการมอบความปรองดองรักใคร่ แก่กันและกัน การให้กำเนิดบุตร และการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุข ตามพระบัญชาของพระอัลเลาะห์ ประเพณีแต่งงานของชาวไทยมุสลิม กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งงานไว้อย่างชัดเจน และมุสลิมทุกคนจะต้องยึดถือปฏิบัติ พิธีนิกะฮ์จะเริ่มต้นเมื่อฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงใจจะใช้ชีวิตร่วมกัน โดยฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอ และตกลงเรื่องสินสอดทองหมั้น สำหรับสินสอดนั้น ตามแต่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน
ในยุคของศาสดามูฮัมหมัด (ซ็อลลอลลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม) ใช้เงินเปรียบเทียบเป็นเงินไทยจำนวน 125 บาท พร้อมคัมภีร์อัลกุรอาน 1 เล่ม เป็นสินสอดแก่ภรรยาของท่าน คู่สมรสชาวมุสลิมจึงยึดถือปฏิบัติกันต่อมาเพื่อเป็นมงคล พิธีนิกะฮ์นั้นอาจจะจัดขึ้นที่บ้านเจ้าสาว หรือที่มัสยิดก็ได้
1. หญิงและชายต้องเป็นมุสลิมทั้งคู่ หลังแต่งงานไปแล้ว หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตกศาสนา ความเป็นสามีภรรยาก็ถือเป็นอันสิ้นสุดไปด้วย การอยู่ร่วมกันหลังจากนั้นถือเป็นการผิดประเวณี
2. ผู้ชายต้องจัดหามะฮัรฺ (ของขวัญแต่งงาน) ให้แก่ผู้หญิงตามที่ผู้หญิงร้องขอ เมื่อทำพิธีแต่งงานทางศาสนาเสร็จ มะฮัรฺนี้จะเป็นของผู้หญิงครึ่งหนึ่งก่อน จนกว่าจะได้อยู่ด้วยกันโดยพฤตินัยแล้ว มะฮัรฺก็จะเป็นของผู้หญิงทั้งหมด
หากหลังพิธีแต่งงานแล้วคู่บ่าวสาวมิได้มีความสัมพันธ์ฉันสามีกันจริงๆ มะฮัรฺก็จะเป็นของผู้หญิงเพียงครึ่งเดียว
หากหลังพิธีแต่งงานแล้วคู่บ่าวสาวมิได้มีความสัมพันธ์ฉันสามีกันจริงๆ มะฮัรฺก็จะเป็นของผู้หญิงเพียงครึ่งเดียว
3. ต้องมีพยานเป็นชายมุสลิมที่มีคุณธรรมอย่างน้อย 2 คน
4. ต้องมีวะลี (ผู้ปกครอง)ของผู้หญิงให้อนุญาตแต่งงาน หากพ่อผู้หญิงมิใช่มุสลิม ไม่สามารถเป็นวะลีได้ ผู้หญิงจะต้องแต่งตั้งให้ใครเป็นวะลีทำหน้าที่ในพิธีแต่งงานให้ ทำพิธีเสร็จแล้ว ความเป็นวะลีโดยการแต่งตั้งก็เป็นอันจบไป
5. มีการเสนอแต่งงาน(อีญาบ)จากทางวะลีของฝ่ายหญิง และเจ้าบ่าวต้องกล่าวรับ(กอบูล)
ประเพณีแต่งงานของชาวไทยมุสลิม ประกอบด้วยการคุฏบ๊ะฮฺนิก๊ะฮฺ เสร็จแล้วก็ทำพิธีนิก๊ะฮฺตามหลักศาสนาโดยการกล่าวเสนอแต่งงานจากทางวะลีฝ่ายหญิง และฝ่ายชายตอบรับ เท่านั้นก็เป็นเสร็จพิธี
ส่วนงานเลี้ยงฉลองแต่งงานเราเรียกว่า "วะลีมะฮฺ" อิสลามส่งเสริมให้ทำเพื่อแสดงความยินดีและรื่นเริงเพราะเป็นโอกาสสำคัญ แต่งานเลี้ยงต้องไม่ฟุ่มเฟือย
การสู่ขอ เมื่อชายหญิงชอบพอกัน และผู้ปกครองเห็นสมควร ฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอกับพ่อแม่ของฝ่ายหญิง เรียกว่า มาโซะมีเดาะ มีการตกลงระหว่าง ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย เกี่ยวกับสินสอดทองหมั้นและกำหนดวันหมั้น
พิธีหมั้น เมื่อถึงกำหนดฝ่ายชายจะจัดเถ้าแก่นำขบวนขันหมาก หรือพานหมากไปยังบ้านฝ่ายหญิง โดยผู้ที่เป็นเจ้าบ่าวไม่ได้ไปด้วย พานหมากมีสามพานคือ พานหมากพลู พานข้าวเหนียวเหลือง และพานขนม ต่อจากนั้นทั้งสองฝ่ายก็จะกำหนดวันแต่งงานและการจัดงานเลี้ยง ก่อนเถ้าแก่จะเดินทางกลับฝ่ายหญิงจะมอบผ้าโสร่งชาย (กาเฮงแปลก๊ะ) หรือผ้าดอกปล่อยชาย (กาเฮงมาเต๊ะลือป๊ะ) อย่างใดอย่างหนึ่ง และขนมของฝ่ายหญิงให้กลับเป็นการตอบแทนให้แก่ฝ่ายชาย
พิธีแต่งงาน วันแต่งงาน ขบวนเงินหัวขันหมากประกอบด้วยเจ้าบ่าว เพื่อนเจ้าบ่าว และญาติผู้ใหญ่ จะเดินทางไปยังบ้านเจ้าสาว ทางบ้านเจ้าสาวจะเชิญอิหม่าม คอเต็บ ทำพิธีแต่งงาน พร้อมสักขีพยานและผู้ทรงคุณธรรม (คุณวุฒิ) เมื่อขบวนขันหมากมาถึงบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าว จะมอบเงินหัวขันหมากให้แก่โต๊ะอิหม่าม ตรวจความถูกต้อง บิดาของเจ้าสาวจะไปขอความยินยอมจากเจ้าสาว (ขณะนั้นเจ้าสาวอยู่ในห้อง) โดยบิดาจะถามว่า พ่อจะให้ลูกแต่งงานกับ ?.(ชื่อเจ้าบ่าว) ลูกจะยินยอมหรือไม่ เจ้าสาวก็จะให้คำตอบยินยอมหรือไม่ยินยอม ถ้าไม่ยินยอมพิธีจะดำเนินต่อไปไม่ได้ ถือว่าผิดหลักศาสนา การถามตอบระหว่างพ่อ-ลูก จะต้องมีพยานสองคนคือ คอเต็บ หรือผู้ทรงคุณธรรมฟังอยู่ด้วย เมื่อเจ้าสาวตอบยินยอมก็จะดำเนินพิธีขั้นต่อไป จากนั้นบิดาเจ้าสาวก็วอเรา คือการกล่าวมอบหมายให้โต๊ะอิหม่ามเป็นผู้ประกอบพิธีแต่งงาน โดยการ บาจอกุฎตีเบาะ คืออ่าน กุฎยะฮ คืออ่านศาสนบัญญัติ เพื่ออบรมเกี่ยวกับการครองเรือน เสร็จแล้วจึงทำการ นิกะฮ คือการรับฝ่ายหญิงเป็นภรรยาต่อหน้าโต๊ะอิหม่าม และพยาน โต๊ะอิหม่ามจะจับปลายมือของเจ้าบ่าว แล้วประกอบพิธีนิกะฮ โดยกล่าวชื่อ เจ้าบ่าว แล้วกล่าวว่า ฉันได้รับมอบหมายจาก ?(ชื่อพ่อเจ้าสาว) ให้ฉันจัดการแต่งงานเธอกับ?(ชื่อเจ้าสาว) ซึ่งเป็นบุตรของ?(ชื่อพ่อเจ้าสาว) ด้วยเงินหัวขันหมากจำนวน ?..บาท
เจ้าบ่าวจะต้องตอบรับทันทีว่า ฉันยอมรับการแต่งงานตามจำนวนเงินหัวขันหมากแล้ว สักขีพยานกับผู้ทรงคุณธรรมกล่าวต่อบรรดาผู้มาร่วมงานในห้องนั้นว่า คำกล่าวของเจ้าบ่าวใช้ได้ไหม ถ้าผู้ร่วมงานตอบว่าใช้ได้ เป็นอันว่าการแต่งงานนั้นถูกต้องแล้วโต๊ะอิหม่าม จะบาจอดุอา หรือบาจอดอออ ขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อให้อัลเลาะห์ให้พรแก่คู่บ่าวสาว จบแล้วอิหม่ามจะบอกหลักของการเป็นสามีภรรยา แก่เจ้าบ่าวว่า ตามหลักศาสนานั้น ผู้เป็นสามีต้องเลี้ยงดูภรรยาและอยู่ร่วมกันตามหน้าที่ของสามีภรรยา จากนั้นมีการลงชื่อ โต๊ะอิหม่าม เจ้าบ่าว เจ้าสาว บิดาฝ่ายหญิง และพยานในหนังสือสำคัญเป็นหลักฐาน เป็นอันเสร็จพิธี
ตามหลักศาสนบัญญัติ ประเพณีแต่งงานชาวไทยมุสลิมกำหนดว่ามุสลิมจะต้องแต่งงานกับมุสลิมด้วยกันเท่านั้น กรณีที่เป็นคนต่างศาสนา จะต้องให้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามเสียก่อน การเข้ารับอิสลามจะต้องศึกษาเกี่ยวกับหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติ พร้อมทั้งปฏิญาณตน กรณี ที่เป็นชาย ต้องทำคิตานหรือเข้าสุนัต หมายถึงการขริบหนังส่วนปลายที่หุ้มอวัยวะเพศด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปในทางเดียวกัน และเมื่อมีลูกด้วยกัน ลูกจะได้เริ่มนับถือในสิ่งที่ถูกต้อง
0 ความคิดเห็น:
Post a Comment
แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเพณีไทยได้ที่นี่ DoFollow