ประเพณีสลากภัต สลากย้อม จังหวัดลำพูน

ประเพณีสลากภัตสลากย้อม เป็นประเพณีไทยภาคเหนือที่คนในปัจจุบันไม่ค่อยรู้จักกันดีนัก เพราะมิใช่ประเพณีใหญ่โตแบบตรุษหรือสารท มักจะทำตามบ้านที่นิยมเลื่อมใส หรือมีสิ่งของพอที่จะรวบรวมมาถวายพระหรือเข้าสลากภัตได้ก็จะมีพิธีนี้ขึ้น ในทางภาคเหนือจะเรียกพิธีนี้ว่า “ทานก๋วยสลาก” คำว่า “ก๋วย” แปลว่า“ตะกร้า” หรือ “ชะลอม”

ประเพณีสลากย้อม ก็คือรูปแบบหนึ่งของเทศกาลวันสารทไทยนั่นเอง มีจุดเป้าหมายอยู่ที่การทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ "เปรต-สัมภเวสี" จะต่างกันก็ที่รายละเอียดปลีกย่อย ว่าภาคไหนให้ความสำคัญแก่สิ่งใดมากกว่า จึงตั้งชื่อเรียกตามจุดเน้นนั้นๆ

อีสานเรียก "งานบุญข้าวสาก" โฟกัสไปที่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวหอมถั่วงาใหม่หมาดแล้วนำมากวนเป็นข้าวทิพย์หรือกระยาสารทถวายพระไตรรัตน์ พร้อมแจกจ่ายคนร่วมงานปักษ์ใต้เรียก "ประเพณีชิงเปรต" ยิงตรงเป้าชี้เปรี้ยงถึงวัตถุประสงค์ของการทำบุญให้ชัดๆ ไปเลย ว่างานนี้ตั้งใจทำบุญให้คนตาย ที่ยังเร่ร่อนล่องลอยอยู่ตามภพภูมิต่างๆ

ทางเหนือเรียก "กิ๋นก๋วยสลาก" หรือ "ตานก๋วยสลาก" ก๋วยเป็นตะกร้าสานที่ใส่เครื่องไทยทาน ฟังดูก็รู้ว่าภาคนี้เน้นที่การตกแต่ง "ต้นสลากสูงใหญ่" โดยสมมติว่าเท่ากับความสูงของเปรต เมื่อมารับบุญในโลกมนุษย์จะได้ไม่ต้องย่อตัวมาก ไม่มีเทศกาลใดอีกแล้วที่จะมีชื่อเรียกที่รุ่มรวยหลากหลายมากเท่ากับชื่อเรียกงานบุญเดือนสิบ ที่ยกตัวอย่างของแต่ละภูมิภาคมานี้ก็เป็นแค่คร่าวๆ เท่านั้น หลายจังหวัดยังมีชื่อเรียกในท้องถิ่นที่แยกย่อยอีกมากมาย

สลากภัต หมายถึง อาหารที่ทายกถวายพระตามสลาก นับเข้าเป็นเครื่องสังฆทาน ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงอนุญาตไว้ในคำสอนนิสสัยว่าเป็นอดิเรกลาภส่วนหนึ่งถวายได้ไม่จำกัดกาล สุดแต่ศรัทธา สำหรับในปัจจุบันนิยมทำในฤดูที่มีผลไม้อุดมสมบูรณ์ ในระหว่างเดือน ๖ จนถึงเดือน ๘ เมื่อวัดใดจะจัดให้มีการถวายสลากภัต ทายกผู้เป็นหัวหน้าก็จะกำหนดวัน และหาเจ้าภาพด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ทำใบปิดไปปิดไว้ หรือไปประกาศป่าวร้องหาเจ้าภาพร่วม ผู้ใดต้องการเป็นเจ้าภาพก็แจ้งชื่อไว้ ครั้นถึงวันกำหนดผู้เป็นเจ้าภาพก็จะมีการเตรียมสำรับกับข้าว และเครื่องไทยทานตามกำลังของตน เช่น หมาก เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ หอม กระเทียมสบู่แปรงสีฟัน ข้าวสาร น้ำตาล และน้ำอ้อย เป็นต้น ต่างก็จะนำมารวมกันไว้ในบริเวณวัดจากนั้นทายกผู้เป็นหัวหน้า ก็จะนำเบอร์มาติดที่สำรับกับข้าวของเจ้าภาพแต่ละรายแล้วเขียนเบอร์หมายเลขให้พระจับ พระจับได้เบอร์อะไรของเจ้าภาพคนใด ก็ไปฉันสำรับกับข้าวที่เจ้าภาพนำมา ส่วนใหญ่ของที่เตรียมไว้จะพอดีระหว่างเจ้าภาพและพระที่นิมนต์มาข้อสำคัญในการทำบุญสลากภัตก็คือ เป็นการถวายทานแบบไม่เจาะจงตัวผู้รับ เมื่อพระองค์ใดจับได้เบอร์ของเจ้าภาพ เจ้าภาพไม่ควรแสดงความยินดียินร้ายในผู้รับ ก่อนที่จะมีการเส้นสลาก(จับสลาก) ก็จะมีการฟังเทศน์อย่างน้อย ๑ กัณฑ์ ต่อจากนั้นก็จะมีการยกของประเคนตามสลาก เมื่อพระฉันเสร็จแล้วก็จะอนุโมทนาและให้พร เจ้าภาพก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

ประเพณีสลากภัต หรือที่ชาวล้านนาเรียกว่า “ตานก๋วยสลาก” หรือมีชื่อเรียกในภาษาท้องถิ่นแตกต่างกันไป อาทิ กิ๋นก๋วยสลาก กิ๋นสลาก ตานสลาก ตานข้าวสลาก ประเพณีนี้นิยมปฏิบัติกันในช่วงเดือน 12 เหนือถึงเดือนยี่เหนือ หรือในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมตามเดือนสากลของทุกปี
      
โดย 1 วัน ก่อนงานพิธีสลากภัตจะเป็น“วันดา” หรือ “วันสุกดิบ” ชาวบ้านจะจัดเตรียมข้าวของต่างๆทั้งของกินของใช้มาสำหรับจัดใส่ในก๋วยสลาก
      
ครั้นพอถึงวันงานสลากภัต จะมีการนำ“ก๋วย” ที่หมายถึง “ตะกร้า” หรือ “ชะลอม” ใส่ข้าวของต่างๆมาทำทานถวาย ร่วมด้วย สลากอื่นๆ เช่น สลากวัว สลากควาย สลากเทวดา รวมไปถึง “สลากโชค” ที่เป็นการนำเงินและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ เช่น เสื้อผ้า หมอน เสื่อ บุหรี่ เครื่องนุ่งห่ม อาหารแห้งต่างๆ ฯลฯ มาผูกมัดติดกับต้นสลากขนาดย่อมที่มีการตกแต่งอย่างสวยงาม สูงราว 5-6 เมตร

ประเพณีสลากย้อม สำหรับที่จังหวัดลำพูนงานสลากภัตประจำจังหวัดของที่นี่นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ได้มีการนำประเพณี“สลากย้อม”ที่เริ่มสูญหายมาผนวกรวม เป็นประเพณี“สลากภัตและสลากย้อม”ที่ดำเนินการจัดควบคู่กันไป
      
ประเพณีสลากภัตนอกจากเป็นการถวายทานตามคติความเชื่อของงานสลากภัตแล้ว ยังเป็นการรวมต้นสลากย้อมจากหลากหลายชุมชนมาถวายและจัดงานที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ศูนย์รวมจิตใจของชาวลำพูนก่อนเป็นลำดับแรกของทุกๆปี(นับตั้งแต่ปี 47 เป็นต้นมา) หลังจากนั้นจึงจะมีการจัดงานของสลากวัดอื่นๆเรื่อยไปตามการตกลงกันในแต่ละปีว่าวัดใดจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน จนถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 11 (เดือนเกี๋ยงเหนือ แรม 14 ค่ำ หรือ เดือนเกี๋ยงดับ)

ทั้งนี้นอกจากการถวายทานเพื่อเป็นพุทธบูชาแล้ว สิ่งดีๆที่ชาวบ้านและชุมชนจะได้รับจากการทำสลากย้อมนับจากอดีตถึงปัจจุบัน ได้แก่ความกตัญญูต่อการทำบุญให้กับผู้ล่วงลับ การสืบสานงานศิลปวัฒนธรรม การได้เรียนรู้สานต่อภูมิปัญญาระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า และที่สำคัญก็คือการสร้างสัมพันธ์ความสามัคคีของชาวชุมชน
      
อย่างไรก็ดีในความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ทำให้วิถีของต้นสลากย้อมจำนวนมากในปัจจุบันมีการเปลี่ยนไปตาม ยิ่งมีการประกวดประชันต้นสลากเพิ่มเข้ามาในภายหลัง ก็ยิ่งทำให้ต้นสลากย้อมดูมีความหลากหลาย มีสีสันมากขึ้น ซึ่งก็มีทั้งต้นสลากที่สวยงามดูดีอุดมไปด้วยภูมิปัญญา และต้นสลากที่ดูขัดตากับข้าวของเครื่องประดับที่จับมายัดใส่กันแบบมากเกินไปจนเกินงาม
      
เรื่องนี้ทำให้ผู้เฒ่าผู้แก่และผู้หลักผู้ใหญ่ รวมไปถึงผู้เห็นในคุณค่าของประเพณีไทยอันดีงามในจังหวัดลำพูนอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ประเพณีสลากย้อมต่อๆไปอาจจะเปลี่ยนเพี้ยนไปกลายเป็นการจัดงานเพื่อเน้นเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว หรือเพื่อการประกวดแข่งขันที่มุ่งเน้นเรื่องความสูงใหญ่ที่สุด ความแปลกประหลาด โดยหลงลืมละเลยแก่นธรรมดั้งเดิมของประเพณีอันดีงามนี้ไป

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเพณีไทยได้ที่นี่ DoFollow