ประเพณีไทย ประเพณีปอยส่างลอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ประเพณีปอยส่างลองเป็นประเพณีไทยที่เกิดจากศรัทธายึดมั่นในบวรพุทธศาสนาอย่างมั่นคงของคนไตซึ่งถือว่าการที่กุลบุตรสามารถอุทิศตนบรรพชาอุปสมบทในพุทธศาสนาได้เป็นผู้มีบุญอันยิ่งใหญ่   เจ้าภาพจะยอมเสียสละ   สิ่งของ เงิน ทอง อันเป็นโลกียทรัพย์ภายนอกเท่าไรก็ได้เพื่อสนับสนุนให้กุลบุตรได้มีโอกาสพบกับอริยทรัพย์ในทางพระพุทธศาสนาคือ การบรรพชา  เสียสละ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข    มุ่งดำเนินตามอริยมรรคเส้นทางไปสู่พระนิพพาน   เป็นการเลียนแบบเหตุการณ์ตามพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระประยูรญาติวันหนึ่งพระนางพิมพาถือโอกาสที่ปลอดโปร่งแต่งองค์ทรงเครื่องให้พระราหุลกุมารและส่งไปขอราชสมบัติจากพระพุทธองค์ เมื่อได้รับคำขอจากราหุลกุมารแทนที่จะพระราชทานราชสมบัติให้    พระพุทธองค์ทรงดำริว่าราชสมบัติอันเป็นโลกียทรัพย์นี้ไม่จีรังควรที่เราจะพระราชทาน อริยทรัพย์อันยั่งยืนดีกว่าแล้วทรงรับสั่งให้บรรพชาราหุลกุมารเป็นสามเณรแทนประเพณีบวชส่างลองของชาวแม่ฮ่องสอน    เปรียบเทียบได้กับประเพณีการบวชลูกแก้วของ ชาวไทยล้านนาทั่ว ๆ ไปนั่นเอง 


ประเพณีปอยส่างลองเป็นประเพณีไทยภาคเหนือที่สำคัญและยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของชาวไทยใหญ่ที่ยึดถือปฏิบัติ สืบทอดติดต่อกันมาเป็นเวลานาน  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเกิดจากการจำลองเหตุการณ์เรื่องราวในพุทธประวัติซึ่งชาวไทยใหญ่เลื่อมใสศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง  ประเพณีบรรพชาอุปสมบทของชาวไทยใหญ่จึงจัดอย่างใหญ่โตมโหฬาร  ถือเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ ใคร ๆ ก็อยากทำบุญ  ใคร ๆ ก็อยากเป็น “อลอง” ผู้ที่มีบุตรชายจะพยายามดิ้นรนให้บุตรของตนได้บวชเรียนให้จงได้ การบรรพชาอุปสมบทส่วนใหญ่จะจัดงานประเพณีปอยส่างลองกันทั้งนั้น มีน้อยรายที่จะบวชโดยไม่จัดงานประเพณีปอยส่างลอง   แต่การบวช “ส่างลอง” เพราะเป็นงานที่สิ้นเปลือง

สมัยก่อน ถ้าเด็กอายุเต็มบรรพชาจะนำไปอยู่วัดกับพระครู ซึ่งเป็นเจ้าอาวาส  หนึ่งพรรษาก่อนบวชเพื่อเรียนธรรมคำ บรรพชา และฝึกฝนรายการบรรพชาให้พร้อมทุกประการก่อนถึงเวลาบรรพชา เด็กที่จำอยู่วัดก่อนบรรพชานี้ภาษาไตหลวง เรียกว่า”กัปปิ” หรือ  “กับปิยะ”  แต่ในสมัยนี้  ถือเอาตามระเบียบใหม่ตามกาลเวลาเตรียมการก่อนบรรพชาแค่ 15 วันหรือ 1 เดือนก็เพียงพอแล้ว  โดยเฉพาะเด็กที่กำลังศึกษาอยู่ในช่วงประถมหรือมัธยม   แต่ทว่าในชนบทยังยึดถือเป็นประเพณีไทยที่เตรียมบรรพชาข้ามพรรษา  1  เดือนเหมือนเดิมทุกอย่าง

วัตถุประสงค์การบวชประเพณีปอยส่างลอง จางลอง
1.  เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเข้าถึงพระพุทธศาสนา  (คือการถือเป็นพุทธมามกะ)
2.  เพื่อให้เด็กได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและให้มีวิชาความรู้ในแขนงต่างๆ  และให้เด็กมีจิตใจติดอยู่ในด้าน ศีลธรรมคุณธรรมและจริยธรรมต่างๆ
3.  เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามตลอดไป
4.  อีกประการหนึ่ง  มีความเชื่อถือว่า  ถ้าได้บรรพชาเป็นส่างลอง(เป็นนาคสามเณร)จะได้แทนคุณน้ำนมมารดาข้าง หนึ่ง หรือถ้าได้อุปสมบทเป็นจางลอง(เป็นนาคพระ)จะได้แทนคุณน้ำนมมารดาทั้งสองข้าง
5.  ผู้ที่ได้รับเป็นเจ้าภาพบรรพชาหรืออุปสมบทนั้น  จะได้รับอานิสงส์มาก  เมื่อสิ้นชีพนี้ก็จะได้สมบัติใน
 สวรรค์ และตลอดถึงพระนิพพาน
6. เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดข้างเคียงอีกด้วย

ขั้นตอนการจัดงานประเพณีปอยส่างลอง
ประเพณีปอยส่างลอง หรืองานบวชลูกแก้วนั้นเป็นพิธีการเฉลิมฉลองของการบรรพชาสามเณรในศาสนาพุทธซึ่งปกติจะมีการจัดงานตั้งแต่ 3 – 5  - 7 วัน ซึ่งงานดังกล่าวนี้จะนิยมจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ว่างเว้นจากการทำนาทำไร่ และเป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของเด็กๆด้วย

ก่อนถึงวันประเพณีปอยส่างลอง อย่างน้อย 10 วัน พ่อแม่จะนำเด็กที่จะเข้ารับการบวช ไปฝากไว้กับหลวงพ่อ หรือพระอาจารย์ที่วัด เพื่อรับการฝึกสอนคำรับศีล คำให้พร คำขอบวช รวมถึงการกราบไว้ และก่อนจะเป็นส่างลอง เด็กซึ่งเป็นผู้ชายจะต้องโกนผม และอาบน้ำสะอาด หรือ น้ำเงิน น้ำทอง น้ำเพชร น้ำพลอย เพื่อเป็นสิริมงคล จากนั้นจะแต่งกายด้วยชุดเสื้อผ้าเครื่องประดับต่างๆ อย่างอลังการ มีการแต่งหน้าแต่งตาด้วยสีสันที่จัดจ้านให้ส่างลอง ดูสวยงามเสมือนเจ้าชายซึ่งมีสง่าราศีเหนือคนทั่วไป
วันแรกของประเพณีปอยส่างลอง หรือ ที่เรียกกันว่า วันเอาส่างลอง หลังจากส่างลองได้ทำพิธีรับศีลแล้ว ผู้เป็นพ่อแม่รวมถึงเจ้าภาพจะจัดเลี้ยงอาหาร 12 อย่าง เป็นมื้อแรกแก่ส่างลอง จากนั้นจะนำส่างลองแห่รอบวิหาร 3 รอบ และแห่ไปกราบคารวะศาลหลักเมือง จากนั้น ในช่วงบ่ายก็จะนำส่างลองไปคารวะตามวัดต่างๆ

วันที่สอง หรือ "วันรับแขก" ทั้งส่างลอง และเจ้าภาพ จะคอยให้การต้อนรับแขกจากที่ต่างๆ ที่ได้มีการเชิญไว้ก่อนล่วงหน้า ซึ่งจะมาร่วมทำบุญด้วย ซึ่งวันนี้จะเป็นวันที่มีการเลี้ยงฉลองแขกและญาติๆ ที่มาร่วมงานอย่างสนุกสนาน

วันสุดท้าย คือ "วันบวช" พิธีของวันนี้จะเริ่มด้วยการนำส่างลองไปแห่รอบวิหาร 3 – 7 รอบ จากนั้นจะนำส่างลองขึ้นวัดเพื่อขออนุญาตทำการบรรพชาจากพระผู้ใหญ่ เมื่อท่านเจ้าอาวาส หรือพระผู้ใหญ่ได้อนุญาตแล้ว ส่างลองก็จะพร้อมกันกล่าวคำบรรพชาและอาราธนาศีล แล้วจึงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดเสื้อผ้าส่างลองที่สวยงามมาเป็นผ้ากาสาวพัตร์สีเหลือง และเป็นพระภิกษุ สามเณรอย่างสมบูรณ์

ก่อนเข้าพิธีบวชหนึ่งวัน ส่างลองจะได้เข้าพิธีเรียกขวัญและการสวดคำขวัญ เพื่อให้เป็นสิริมงคลด้วย ซึ่งงานประเพณีปอยส่างลองนี้ แต่ละแห่งจะมีการจัดแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความสะดวกและลำดับขั้นตอนของที่นั้นๆ โดยเฉพาะกำหนดวัน ซึ่งที่ที่มีการจัดงานมากกว่า 3 วัน จะเลื่อนวันรับแขกออกไปวันอื่น และในช่วงการจัดงานจะมีการนำส่างลองไปเยี่ยมบ้าน หรือ ไปคารวะวัดและเยี่ยมเยือนหมู่บ้านต่างๆ  ที่ขาดไม่ได้คือ ตลอดงานจะต้องมีการแห่ส่างลอง รอบวิหารของวัดพร้อมมีการรับศีลทุกเช้าเย็น ที่สำคัญตลอดงานส่างลองจะต้องไม่แตะพื้นที่ดิน ซึ่งหากจำเป็นจะไปไหนมาไหน ผู้เป็น ตะแป หรือ พ่อส้าน จะคอยดูแลโดยให้ขี่คอ และจะมี ตะแป อีกคนคอยกางร่มให้ตลอดเวลา   

ที่มา ประเพณีไทย วิถีชีวิต ประเพณีปอยส่างลอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเพณีไทยได้ที่นี่ DoFollow