ประเพณีสงกรานต์พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ


ประเพณีสงกรานต์พระประแดง เดิมเรียกกันว่า "สงกรานต์ปากลัด" ภายโดยรวม ๆ ก็นับว่าคล้ายคลึงกับประเพณีสงกรานต์ทั่ว ๆ ไป แต่ที่เห็นว่าแตกต่างจากประเพณีสงกรานต์อื่น ๆ คือ การจัดงานสงกรานต์พระประแดง จะช้ากว่าวันสงกรานต์ปกติ คือ แทนที่จะจัดในวันที่ ๑๓ เมษายน ก็กลับเป็นวันอาทิตย์ต่อถัดจากวันสงกรานตือีกหนึ่งสัปดาห์ อย่างเช่นในปีนี้ (พ.ศ. ๒๕๔๖) สงกรานต์ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน แต่สงกรานต์พระประแดง จะจัดหลังจากวันมหาสงกรานต์ ๑ อาทิตย์



ประเพณีสงกรานต์พระประแดง ถือเป็นวันเทศกาลขึ้นปีใหม่ เป็นเทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายมอญ หรือที่เรียกว่า ชาวไทยรามัญ ที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองพระประแดง นับเป็นเวลาร้อยแปดสิบปีเศษแล้วที่ชาวมอญได้มาพักพิงอาศัยอยู่ที่ปากลัด และสืบทอดประเพณีเก่าแก่ของชาวมอญเอาไว้ นั่นก็คือประเพณีสงกรานต์พระประแดง เป็นเทศกาลที่สนุกสนาน รวมประเพณีหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน ในวันสงกรานต์ จะเริ่มต้นด้วยการส่งข้าวสงกรานต์ตามวัดต่างๆ ทำบุญทำทานในตอนเช้าตรู่ ในตอนสายลูกหลานจะพากันไปรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ตอนกลางคืนจะมีการเล่นสะบ้าตามหมู่บ้านต่าง ๆ การร้องเพลงทะแยมอญกล่อมบ่อน ซึ่งแสดงถึงวิถีชีวิตของชาวไทย เชื้อสายรามัญ และในวันท้ายของสงกรานต์ทุกหมู่บ้านจะร่วมใจกันจัดขบวนแห่นางสงกรานต์เพื่อนำขบวนไปปล่อยนก - ปล่อยปลา ณ อาราหลวง วัดโปรดเกษเชษฐาราม ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ของชาวมอญ

ประเพณีสงกรานต์พระประแดง ซึ่งจะจัดตรงกับวันเสาร์และอาทิตย์แรก หลังจากงานเทศกาลสงกรานต์ทั่วไป โดยจัดเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ ประกอบไปด้วยขบวนแห่นางสงกรานต์ การปล่อยนก ปล่อยปลา การเล่นสะบ้า การรดน้ำขอพร การถวายข้าวสงกรานต์ การละเล่นพื้นเมืองแบบมอญ อันได้แก่ ทะแยมอญ และการรำมอญ เป็นต้น ซึ่งเป็นงานที่สนุกสนาน มีชาวบ้านจากเขตใกล้เคียงไปร่วมฉลองกันมาก ต่อมาประเพณีดังกล่าวได้ขาดหายไป จนเหลือแต่ขบวนแห่นางสงกรานต์ การปล่อยนก ปล่อยปลา และการเล่นสะบ้า จำนวนบ่อนสะบ้าที่เคยมีอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นสิ่งหนึ่งที่ดึงดูดใจผู้ไปเยือนก็ลดจำนวนลงทุกปี จนในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ สมาคมชาวรามัญได้มีการประชุมจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมพื้นเมืองพระประแดงขึ้น ซึ่งทางสมาคมได้พยายามฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีของชาวพระประแดงดั้งเดิม ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากคนรามัญหรือมอญขึ้นมา

ประเพณีสงกรานต์พระประแดง จะจัดให้มีขบวนแห่นางสงกรานต์ประกอบไปด้วยรูปขบวนนางสงกรานต์ตามคติประจำปีนั้น ๆ มีขบวนสาวงามในชุดการแต่งกายแบบมอญพร้อมด้วยนก ปลา ที่จะนำไปปล่อย และการเปิดบ่อนสะบ้า

การเล่นสะบ้าเป็นการละเล่นที่สนุกสนานอย่างหนึ่งของหนุ่มสาว ที่เปิดโอกาสให้ได้พบปะพูดจาพร้อมกับการเล่นสะบ้า ซึ่งการละเล่นสะบ้าตามบ้านนั้น ตามปกติจะจัดกันตามใต้ถุนบ้านของฝ่ายหญิง เฉพาะลานสะบ้าที่ถูกต้องตามแบบแผนจะต้องมีความกว้างอย่างน้อย ๒.๕๐ เมตร และยาวประมาณ ๖.๕๐ เมตร พื้นลานสะบ้านั้นต้องราบเรียบ และดินควรจะแข็งตามสมควร การเล่นสะบ้าต้องเล่นกันเป็นคู่ ๆ แบ่งเป็นฝ่ายหญิง ๘ คน ฝ่ายชาย ๘ คน ผู้เล่นจะต้องแต่งกายชุดพื้นเมืองไทยรามัญ

ลูกสะบ้าเป็นลูกไม้ชนิดหนึ่งซึ่งหาได้ตามป่าทั่วไป ด้วยการนำลูกแก่จัดมาเล่น หากหาไมได้ก็จะใช้ไม้เจียนให้เป็นวงกลม หนาประมาณ ๒ เซนติเมตร โดยให้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘-๙ เซนติเมตร ผู้เล่นสะบ้าแต่ละคนจะต้องมีลูกสะบ้า จะให้ฝ่ายไหนเล่นก่อนหลังแล้วแต่จะตกลงกัน ส่วนเวลาในการเล่นนั้นไม่กำหนดแน่นอนตายตัว การเล่นสะบ้ามีทั้งหมด ๑๔ ท่า โดยแตกต่างกันที่ที่ตั้งลูกสะบ้า เช่น วางลูกสะบ้าไว้ที่คอแล้วยิง ต่อไปวางที่หน้าอกเรื่อยลงมาจนถึงหลังเท้า เมื่อลูกสะบ้าตกที่ใดก็ยิงเฉียดพื้นดินไปยังลูกสะบ้าฝ่ายตรงข้าม ถ้าฝ่ายใดยิงได้ครบทั้ง ๑๔ ลูกก่อนก็เป็นฝ่ายชนะ นอกจากนี้ยังมีการเล่นสาดน้ำกันด้วย

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเพณีไทยได้ที่นี่ DoFollow