ทำบุญตักบาตรเนื่องในประเพณีวันขึ้นปีใหม่ให้มงคลแก่ชีวิต

การทำบุญประเพณีขึ้นปีใหม่ในปัจจุบันนี้ ถือเอาวันที่ 1 มกราคมของทุก ๆ ปี ตามแบบสากลทั่วไป เป็นวันที่เราจะได้ตั้งต้นชีวิตใหม่ของปีต่อไปอีก และในเวลาเดียวกันทำให้เราได้สำรวจตัวเองย้อนหลังไป 1 ปีว่า ตลอดระยะเวลาที่ล่วงมาแล้วนั้น เราได้ประกอบกรรมดีกรรมชั่วไว้อย่างไรบ้าง และในปีใหม่ที่จะถึงนี้เราจะคิดแก้ไข หรือประกอบการงานอย่างใดต่อไปอีก การปฏิบัติตนในวันปีใหม่มีการทำบุญตักบาตรแด่ภิกษุสงฆ์ แล้วไปฟังธรรมที่วัด นอกจากนั้นยังมีการส่งบัตรคำอวยพรความสุขปีใหม่ (ส.ค.ส.) ไปยังบุคคลที่เราเกี่ยวข้อง หรือบุคคลที่เราเคารพนับถืออีกด้วย เป็นการแสดงความปรารถนาให้ผู้นั้นได้รับความร่มเย็นเป็นสุขตลอดไป วันขึ้นปีใหม่จึงเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของไทย
 ประเพณีวันขึ้นปีใหม่

การทำบุญตักบาตร คือ การถวายอาหารแด่พระภิกษุสามเณร รูปเดียวหรือหลายรูป จะปฏิบัติเป็นประจำหรือเป็นครั้งคราวก็ได้

วัตถุประสงค์ของการทำบุญตักบาตร นอกจากจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการให้ทานเพื่อบูชาคุณแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เฉพาะดังนี้
 ๑. ธำรงส่งเสริมและสืบทอดพระพุทธศาสนา
 ๒. ส่งเสริมและบำรุงพระภิกษุสามเณร ผู้ทรงศีล ทรงธรรม
 ๓. ส่งเสริมคุณความดีของผู้ปฏิบัติ ทั้งผู้ตักบาตรและพระภิกษุสามเณรผู้รับบิณฑบาตร
การตักบาตรจึงเป็นประเพณีไทยที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติ เพราะเป็นการให้กำลังแก่พระภิกษุสามเณรได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ประพฤติปฎิบัติธรรมตามพระธรรมวินัย และสั่งสอนประชาชนเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรสืบไป ทั้งนี้จะเป็นผลดีแก่ผู้ปฏิบัติด้วยเพราะทำให้เป็นผู้มีใจบุญกุศลและเป็นการส่งเสริมผุ้ทรงคุณธรรม

การทำบุญตักบาตรจะสมบูรณ์ได้ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้
๑.ต้องเตรียมใจให้พร้อม ข้อนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะบุญที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจของผู้ถวาย ท่านแนะนำให้รักษาเจตนาให้บริสุทธิ์ทั้ง ๓ ขณะ คือ
๑.๑ ก่อนถวาย ตั้งใจเสียสละอย่างแท้จริง
๑.๒ ขณะถวาย ก็มีใจเลื่อมใส ถวายด้วยความเคารพ
๑.๓ หลังจากถวายแล้ว ต้องยินดีในทานของตัวเองจิตใจเบิกบานเมื่อนึกถึงทานที่ตนเองได้ถวายไปแล้ว
การทำใจให้ได้ทั้ง ๓ ขณะดังกล่าวนี้ นับว่ายากมาก เพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้จิตใจของเราเศร้าหมองในขณะใดขณะหนึ่งได้
๒.ผู้รับ คือ พระภิกษุสามเณร เป็นผู้สำรวมระวัง มีข้อวัตรปฏิบัติที่ดีงามตามพระธรรมวินัย ใฝ่ศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์ ทรงจำ นำมาบอกกล่าว สั่งสอนได้ และเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติเพื่อบรรเทาราคะ โทสะ โมหะ จนสามารถละขาดได้อย่างสิ้นเชิง
๓.สิ่งของที่ถวาย จะต้องได้มาด้วยวิธีที่สุจริต ไม่เบีดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเพณีไทยได้ที่นี่ DoFollow