การเปลี่ยนแปลงของโลกกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไทย

สังคมและวัฒนธรรมไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและเกี่ยวพันกับปัจจัยภายในและภายนอกที่เข้ามากระทบ ดังนั้น วัฒนธรรมอาจเหมาะสมกับสภาพสังคมในยุคหนึ่ง แต่อาจไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของคนในสังคมในอีกยุคหนึ่งก็ได้ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงไม่ได้หมายถึงการละทิ้งวัฒนธรรมประเพณีของตนไปอย่างสิ้นเชิง และหันไปรับวัฒนธรรมประเพณีของสังคมอื่นมาใช้ทั้งหมด ทั้งนี้เพราะรากเหง้าของวัฒนธรรมประเพณีไทยได้สร้างและสั่งสมให้สอดคล้องกับสังคมไทยมาช้านาน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากลักษณะบางอย่างไม่ตอบสนองความต้องการของสมาชิกในยุคปัจจุบัน จึงได้นำสิ่งประดิษฐ์คิดค้นใหม่มาใช้ทดแทน หรือพัฒนาต่อยอดวัฒนธรรมที่มีอยู่ให้ เหมาะสมกับกาลสมัย


ด้วยเหตุนี้ เราจึงมองได้ ๒ ระดับ ระดับที่หนึ่งก็คือการอนุรักษ์สงวนรักษาวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามของไทยให้คงอยู่ตลอดไป ส่วนระดับที่สอง คนไทยจะต้องพัฒนาต่อยอดวัฒนธรรมของตนให้ทันสมัย สอดคล้องกับสภาพสังคมในยุคปัจจุบันวัฒนธรรมประจำชาติ และวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น จัดเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูง ควรแก่การอนุรักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนบธรรมเนียมประเพณี โบราณสถาน โบราณวัตถุ ภาษาและวรรณกรรมซึ่งได้บรรลุและสั่งสมความรู้ ความหมายและคุณค่าทางวัฒนธรรมที่มีมาแต่อดีตให้คนรุ่นต่อมาได้เรียนรู้เพื่อรู้จักตนเองและมีความภูมิใจในความเป็นชาติไทย โดยส่วนรวมสิ่งเหล่านี้จะสูญหายไปหากขาดการเอาใจใส่ในการอนุรักษ์และส่งเสริมในทางที่ถูกที่ควร

แนวทางในการอนุรักษ์วัฒนธรรมมีดังนี้
(๑) ศึกษา ค้นคว้า และวิจัยวัฒนธรรมประเพณีไทยและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่มีการรวบรวมไว้แล้วและที่ยังไม่ได้ศึกษาแต่มีกระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกแห่ง ผู้ศึกษาค้นคว้าจะได้ทราบความหมายและความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมอย่างถ่องแท้ ความรู้ดังกล่าวจะเป็นรากฐานการดำเนินชีวิต เมื่อได้เห็นคุณค่าจะยอมรับ และนำไปใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมและแพร่หลาย

(๒) ส่งเสริมให้ชนทุกหมู่เหล่าเห็นคุณค่า และร่วมกันรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้าใจและมั่นใจแก่ประชาชนในการปรับเปลี่ยน และตอบสนองกระแสวัฒนธรรมอื่นๆ และวัฒนธรรมภายนอกอย่างเหมาะสม

(๓) ขยายขอบเขตการมีส่วนร่วมในวัฒนธรรมด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนและภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานของรัฐเห็นความสำคัญและตระหนักว่าวัฒนธรรมเป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกันในการส่งเสริม สนับสนุน ประสานงาน การบริการด้านความรู้ วิชาการ และทุนทรัพย์จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม

(๔) ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยใช้ศิลปวัฒนธรรมเป็นสื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน

(๕) สร้างทัศนคติ ความรู้และความเข้าใจ ว่าสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมเป็นสมบัติของทุกคนและมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่โดยตรง ดังนั้น ทุกคนจึงมีหน้าที่ในการเสริมสร้าง ฟื้นฟู และดูแลรักษา

(๖) จัดทำระบบเครือข่ายสารสนเทศทางด้านวัฒนธรรม เพื่อเป็นศูนย์กลางเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานให้ประชาชนเข้าใจสามารถเลือกสรรตัดสินใจ และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมในการดำเนินชีวิต อนึ่งต้องส่งเสริมสนับสนุนบทบาทของสื่อมวลชนในด้านวัฒนธรรมให้มากยิ่งขึ้นในปัจจุบันวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากขึ้น ดังนั้นเราจึงควรให้ความสนใจวัฒนธรรมของชาติโดยการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมประเพณีไทยซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสูงให้อยู่คู่กับชาติไทยตลอดไป

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเพณีไทยได้ที่นี่ DoFollow