ประเพณีไทย ประเพณีห่มผ้าพระปรางค์วัดพุทไธศวรรย์

ประวัติและความเป็นมาของวัดพุทไธศวรรย์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา ในสมัยกรุงศรีอยุธยา วัดพุทไธศวรรย์เป็นพระอารามหลวงที่ใหญ่โตและมีชื่อเสียงวัดหนึ่ง ปรากฏตามตำนานว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสร้างขึ้นในบริเวณที่ซึ่งเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับเมื่อทรงอพยพมาตั้งอยู่ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ที่ตรงนี้มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า "ตำบลเวียงเล็กหรือเวียงเหล็ก" ครั้นเมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว ถึง พ.ศ. 1896 จึงโปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นเป็นพระราชอนุสรณ์ ณ ตำบลซึ่งพระองค์เสด็จมาตั้งมั่นอยู่แต่เดิม และพระมหากษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาก็คงจะได้โปรดให้สร้างถาวรวัตถุ เพิ่มเติมขึ้นอีกหลายอย่าง อนึ่ง เมื่อเสียกรุงฯ ในปี พ.ศ. 2310 วัดพุทไธศวรรย์ก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่มิได้ถูกพม่าทำลายเหมือนวัดอื่น ๆ ทุกวันนี้จึงยังมีโบราณสถานไว้ชมอีกมากมาย

 ประเพณีไทย ประเพณีห่มผ้าพระปรางค์วัดพุทไธศวรรย์
วัดพุทไธศวรรย์  ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านทิศใต้นอกเกาะเมือง  สมเด็จพระเจ้าอู่ทองทรงสร้างขึ้นในบริเวณ  “เวียงเหล็ก” ซึ่งเป็นที่ประทับเดิมของพระองค์ก่อนที่จะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปสร้างพระราชวังที่ตำบลหนองโสน  (บึงพระรามในปัจจุบัน)
ประเพณีห่มผ้าพระปรางค์วัดพุทไธศวรรย์ เป็นประเพณีไทยที่ปฏิบัติ  สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน ในวันเพ็ญกลางเดือน  ๖  ของทุกปี  เพื่อบูชาองค์พระเจดีย์ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอู่ทองสร้างไว้  มีขั้นตอนพิธีกรรม ดังนี้

ในวันขึ้น  ๑๔  ค่ำ  ซึ่งเป็นวันโกน  จะมีการสวดมนต์เย็นที่วัด  เช้าวันรุ่งขึ้นเป็นวันพระขึ้น  ๑๕  ค่ำ  ชาวบ้านจะนำกับข้าว  คาว  หวาน   มาทำบุญตักบาตร  โดยมีวงปี่พาทย์มาบรรเลงด้วยทางวัดว่าจ้างมา  บางปีเขาก็มาช่วย  เมื่อทำบุญเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ประมาณ  ๙  โมงเช้า  ชาวบ้านจะร่วมกันตั้งขบวน  เพื่อนำผ้า  ๓  สี  มีเขียว  แดง  เหลือง  ซึ่งทุกคนจะเขียนชื่อตนเองและครอบครัวในผืนผ้าแล้วตั้งขบวนแห่แหนไปที่องค์พระปรางค์ภายในบริเวณวัด  โดยมีเท่งบอง  แตรวง  บรรเลงให้ความครึกครื้นไปตลอดเส้นทาง  เมื่อถึงองค์พระปรางค์   จะมีพิธีบวงสรวงท้าวอู่ทองด้วย  และจะมีผู้รู้ในประเพณี กล่าวนำในการถวายผ้าห่มพระปรางค์  แล้วคนที่อยู่ด้านบนเกือบถึงยอดพระปรางค์  ซึ่งเรียกว่า  “ฝักเพกา”ก็จะห่มผ้าให้รอบย้อนรำลึกไปถึงสมัยเมื่อ  ๖๐  ปีที่แล้วมา  ตอนกลางคืนจะมีการเฉลิมฉลอง มีลิเก มีภาพยนตร์  มีของขาย ชาวบ้านจะมาร่วมงานกันมากมาย  เป็นที่สนุกสนาน

ปัจจุบันการทำมาหากินเปลี่ยนสภาพไปจากอาชีพการทำไร่ทำนาของคนแถวนี้ เป็นการไปทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรม บางปีวันห่มผ้าพระปรางค์คนมาร่วมงานน้อย  ถ้าปีไหนตรงกับวันหยุดงาน  ผู้คนก็จะมาร่วมงานคับคั่งในบริเวณวัดมีโบราณสถาน ระเบียงคด และตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์  ซึ่งภายในมีภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยาเรื่องทศชาติชาดก  และเรื่องสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ไปนมัสการพระพุทธบาทที่ลังกาทวีป  เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน  คือ  หลวงพ่อหวล  ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์  มีลูกศิษย์ลูกหามากมายให้ความเคารพศรัทธามากราบไหว้เนือง ๆ  ท่านเป็นพระนักพัฒนา ก่อสร้างถาวรวัตถุ และบูรณะโบราณสถาน โบราณวัตถุ  ทำให้วัดเจริญรุ่งเรืองมีผู้คนมาเที่ยวชม  ไหว้พระและศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา
  
ที่มา ประเพณีไทย วิถีชีวิต จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเพณีห่มผ้าพระปรางค์วัดพุทไธศวรรย์ 

ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเพณีไทยได้ที่นี่ DoFollow