ประเพณีไทย การแข่งเรือยาวประเพณี

ในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง ทั้งการค้า การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และการสัญจรไปมาของประชาชนทั่วไป นับได้ว่าการใช้เรือเป็นหนทางที่สะดวกที่สุดในสมัยนั้น และฤดูน้ำหลากของทุกปีหรือช่วงเทศกาลออกพรรษาทางวัดและชาวบ้านได้จัดกิจกรรมงานบุญต่าง ๆ อาทิ การทำบุญตักบาตร ฟังธรรมเทศนา และพัฒนาวัด นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมการแข่งขันเรือยาว ที่รวมกลุ่มชาวบ้านจากท้องถิ่นต่าง ๆ นำเรือยาวและทีมแข่งขันที่ฝึกซ้อมกันอย่างดี มาประชันฝีพายกันในช่วงเวลาดังกล่าว และสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณีไทยมาจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นที่มาของการแข่งขันเรือยาวประเพณี

 การแข่งเรือยาวประเพณี

แม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางสำคัญในการสัญจรติดต่อไปมาค้าขายซึ่งกันและกันมาแต่บรรพกาล เรือจึงเป็นพาหนะสำคัญในวิถีชีวิตของชาวไทยที่เกิดจากภูมิปัญญาของบรรพชนแต่บรรพกาลประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการสัญจรระหว่างบ้านและชุมชน เรือเป็นพาหนะที่มีบทบาทสำคัญแต่อดีตจวบจนปัจจุบันทั้งในวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ การคมนาคมขนส่ง ตลอดจนก่อให้เกิดวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามแห่งสายน้ำ

ประเพณีการแข่งเรือ ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติเป็นพื้นฐานของศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตอันดีงามของชาวไทย ในฤดูน้ำหลาก ว่างเว้นจากการเพาะปลูก ปักดำทำนา ในเทศกาลงานบุญประเพณีออกพรรษา ด้วยนิสัยรักสนุกอันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ก่อให้เกิดการละเล่นทางน้ำ อาทิ การเล่นเพลงเรือ และการแข่งขันเรือยาวประเพณีขึ้น อันเป็นกีฬาชาวบ้านในชุมชนชนบทไทย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาชาติขึ้นทุกลุ่มน้ำ ความล้มเหลวในการพัฒนาชนบทไทยนำมาซึ่งปัญหาสังคมนานับประการในสังคมเมือง

ภูมิปัญญาไทยในการขุดเรือยาว การขุดเรือ ช่างขุดเรือซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านไทยจะพิจารณาดูไม้ว่าจะเอาส่วนไหนทำ หัวเรือ หางเรือ และท้องเรือ ซึ่งช่างขุดเรือส่วนใหญ่จะนิยมใช้โคนต้นไม้เป็นหัวเรือ ใช้ปลายไม้เป็นท้ายเรือ รูปทรงเรือหัวโตท้ายเรียวคล้ายปลาช่อน เพราะเชื่อว่าจะเปิดน้ำได้ดีทำให้เรือวิ่ง แต่บางช่างนิยมใช้ปลายไม้ทำหัว โคนไม้ทำท้าย เรือลักษณะนี้หัวเรียวท้ายโต ก่อนขุดจะตั้งศาลเพียงตาอัญเชิญนางไม้ขึ้นศาลฯ เมื่อขุดเรียบร้อยแล้วจะเชิญขึ้นเป็นแม่ย่านางประจำเรือ

ประเภทของเรือยาวประเพณี สามารถจำแนกโดยอาศัยจำนวนฝีพายเป็นตัวกำหนดขนาดในการแบ่งประเภทของการแข่งขันได้เป็น 4 ประเภท คือ 1.เรือยาวใหญ่ ใช้ฝีพายตั้งแต่ 41-55 คน 2.เรือยาวกลาง ใช้ฝีพายตั้งแต่ 31-40 คน 3.เรือยาวเล็ก ใช้ฝีพายไม่เกิน 30 คน 4.เรือยาวจิ๋ว ใช้ฝีพายไม่เกิน 12 คน หมายเหตุ เรือยาวจิ๋ว จำแนกเป็น 3 ประเภทคือ เรือจิ๋วใหญ่ ฝีพาย 12 คน เรือจิ๋วกลาง ฝีพาย 10 คน เรือจิ๋วเล็ก ฝีพาย 7-8 คน

สมัยก่อนเรือยาวจะมีการแข่งขันในแม่น้ำหน้าวัด เพราะวัดเป็นศูนย์รวมของขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ และพระจะเป็นผู้ดูแลรักษาเรือ ส่วนฝีพายจะเป็นชาวบ้านท้องถิ่นนั้น ปัจจุบันการแข่งขันเรือยาวเป็นที่นิยมกันอย่าง กว้างขวาง สนามแข่งขันส่วนใหญ่ก็เป็นสนามหน้าวัด แต่ก็มี บางแห่งที่สนามแข่งขันไม่ใช่วัด เช่น สนามศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สนามบริเวณใต้สะพานพระราม 8 กรุงเทพมหานคร

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเพณีไทยได้ที่นี่ DoFollow