ประเพณีแฮกนาไถเอาฤกษ์พิธีผีตาแฮก ปลุกขวัญชาวนา

ประเพณีแฮกนา ก็คือ การลงถือไถครั้งแรกของชาวนา เป็นประเพณีไทยภาคเหนือและภาคอีสานที่ถือปฏิบัติแต่เดิม ชาวนาจะคำนึงถึงพญานาคให้น้ำในวันปีใหม่สงกรานต์ว่า ปีนี้นาคที่ให้หันหน้าไปทางทิศไหน การเริ่มไถแฮกนาจะไถตั้งหัวนาคไปหาหางนาค จะเว้นจากการไถเสาะเกล็ดนาค คือ ทวนเกล็ดพญานาค 1 และไถค้างท้องนาค 1 หมายถึงการไถที่ตระกายท้องนาค ซึ่งการไถ 2 แบบนี้ไม่เป็นมงคลการไถนั้นจะเริ่มต้นด้วยการ “ผ่าฮิ้ว” คือไถแบ่งตอน แล้วจะไถ “พัดซ้าย” หมายถึง การไถด้านซ้ายให้ก้อนขี้ไถผลักมาทางขวา แล้วต่อไปให้ “พัดขวา” คือ การไถด้านขวา ผลักขี้ไถมาด้านซ้ายและไถเรื่อยไปจนกว่าจะหมดเนื้อที่ในนานั้น


การแฮกนานั้น ถ้าถือตามประเพณีไทยที่ได้มาจากอินเดียโบราณเกี่ยวกับพระราชพิธีแรกนาขวัญนั้น เป็นพิธีที่นำมาประยุกต์ในราชสำนักของพระมหากษัตริย์ตะวันออก หลายชาติ เช่น ไทย พม่า เขมร ลาว เป็นต้น แต่ประเพณีแรกนาขวัญ ที่ยังปฏิบัติกันอยู่เวลานี้อยู่ในราชสำนักไทยเท่านั้น ซึ่งจะมีพิธีแรกนาขวัญ โดยถือเป็นราชพิธีมีรัฐบาลดำเนินการทุก ๆ ปี ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นกำลังใจแก่พลเมืองสร้างกำลังขวัญแก่เกษตรกร ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ

ประเพณีแฮกนา เป็นประเพณีตามความเชื่อที่มีความหมายเดียวกับแรกนาในภาษาไทยภาคกลาง การแฮกนา เป็นการเริ่มต้นลงมือทำนาโดยมีวัตถุประสงค์ในการบูชาแม่โพสพ เพื่อความเป็นสิริมงคลและเสี่ยงทายไปในตัวด้วย การแฮกนาในภาคเหนือนั้น มีทั้งการแฮกโดยรวมและการแฮกตามขั้นตอนการปลูกข้าว ซึ่งมี แฮกไถ แฮกหว่าน แฮกเกี่ยว และแฮกตี(นวด) พิธีกรรมในการแฮกมีรายละเอียด พอสังเขปดังนี้  
             
1 แฮกนา โดยรวมจะทำเป็นพิธีที่สำคัญยิ่งพิธีหนึ่ว ระยะเวลาที่นิยมจัดพิธีคือช่วงก่อนจะเริ่มไถนาในฤดูกาลนั้นๆ พ่อนาจะประกอบพิธีอ่านโองการบวงสรวงเทพารักษ์ที่ปกปักรักษาแดนนา พระแม่โพสพและพระแม่ธรณี เสร็จแล้วจะเป็นการเสี่ยงทาย เริ่มจากการสังเกตดูสร้อยสังวาล หากเห็นสร้อยสังวาลมีความยาวทายว่าปีนี้น้ำท่าสมบูรณ์ดี ถ้าเห็นสังวาลสั้นทายว่าน้ำจะน้อย ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล จากนั้นจึงไปหยิบเอาเมล็ดข้าวที่ใส่ทะนานในบริเวณพิธีมาเสี่ยงทายดูหากจำนวนเมล็ดข้าวเป็นจำนวนคู่ทายว่าข้าวกล้าในนาจะได้ผลเต็มที่ แต่ถ้าเป็นจำนวนคี่ ทายว่าข้าวกล้าจะไม่ให้ผลดีนัก เสี่ยงทายเสร็จจะนำข้าวเปลือกในพิธีหว่านในปริมณฑลของราชวัตรนั้น จากนั้นนำต๋าแหลวไปปักไว้ตามมุมกระทงนาพร้อมนำต้นดอก “เอื้องหมายนา” ไปปลูกคู่กับต๋าแหลว เพื่อสัญลักษณ์แสดงอาณาเขต หลังจากนั้นจะหาวันที่แรกไถ แรกหว่าน แรกปลูก และแรกกระทำอื่นๆ บนผืนนาจนกว่าจะแล้วเสร็จกระบวนการ 
              
2 แฮกไถ การเตรียมการแรกไถ ชาวล้านนามีความเชื่อเกี่ยวกับการหันหัวของพญานาค โดยเชื่อกันว่าในแต่ละช่วงเดือนพญานาคจะหันหัวไปในทิศต่างๆ การแรกไถจะไม่ไถไปในทิศทางกับหัวพญานาค คือต้องไถไปทางทิศที่เป็นหางพญานาคเท่านั้น ดังนั้น ต้องหาทิศทางของนาคด้วย คือจะต้องไม่ไถทวนหรือย้อนเกล็ดพญานาคประจำเดือนดดยเด็จขาด ที่เรียกกันว่า “ไถเสาะเกล็ดนาค” หมายถึงการฝืนหรือต้านอำนาจของพญานาคผู้ดูแลดินและน้ำ และหากไถเสาะเกล็ดนาคเชื่อว่าจะทำให้มีอันเป็นไป เช่น ไถหัก วัวควายที่ใช้ไถตื่นกลัว คนไถได้รับอันตราย ตลอดจนข้าวกล้าเสียหายไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจจะทำให้การปลุกข้าวในฤดูนั้นประสบปัญหา หรือเกิดภัยพิบัติต่างๆ แก่นาข้าวของตนเอง สำหรับทิศที่พญานาคหันหัวตามการนับเดือนของล้านนาคือ (เดือนทางล้านนาจะเร็วกว่าภาคกลางไป 2 เดือน)เดือน 1-3 พญานาคหันหัวไปทิศใต้เดือน 4-6 พญานาคหันหัวไปทิศตะวันตกเดือน 7-9 พญานาคหันหัวไปทิศเหนือเดือน 10-12 พญานาคหันหัวไปทิศตะวันออก

การแฮกไถเป็นการใช้ของมีคม คือผาลไถไปวอนไวกรีดลึก บนผืนดินที่พญานาคดูแลอยู่ ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญ และปฏิบัติต่อพญานาคอย่างนอบน้อม

3 แฮกหว่าน ก่อนจะนำเมล็ดข้าวพันธุ์ไปหว่าน จะต้องมีการหาวันที่เหมาะสมกับการหว่านตามตำรา ได้แก่ วันจันทร์ วันพุธ วันพฤหัสบดี และวันศุกร์ ในวันเหล่านี้วันพุธ ถือเป็นวันดีที่สุด รองลงมาคือวันศุกร์ สำหรับการหว่าน ท่านให้หันหน้าไปทิศตะวันตก แล้วหลับตาหว่านสัก 4-5 กำมือ จากนั้นก็ค่อยลืมตาหว่านต่อไป ด้วยถือเคล็ดที่ว่าสัตว์เป็นศัตรูข้าวพืชจะไม่สามารถมองเห็นข้าว กล้าที่หว่านและจะไม่มารบกวน เมื่อหว่านเสร็จจะประกอบพิธี “วางควักธรณี” คือวางกระทงใบตองที่บรรจุ “เข้าปั้นกล้วยหน่อย” (ข้าวเหนียวหนึ่งก้อน กล้วยสุกหนึ่งลูก) เพื่อบอกกล่าวพระแม่ธรณีเป็นการฝากฝีงให้ดูแลต้นกล้า ให้เจริญงอกงามดีไม่มีศัตรูพืชมาเบียดเบียน จากนั้นอาจนำต้นเอื้องหมายนามาปักเพื่อแสดงเครื่องหมายบอกความเป็นเจ้าของ พร้อมปักต๋าแหลว เพื่อป้องกันศัตรูพืชและนอกจากนั้นยังพบว่ามีการนำเปลือกไข่ มาครอบปลายไม่เรียวที่ปักไว้ โดยเชื่อว่าจะสามารถป้องกันศัตรูพืชประเภทเพลี้ยได้ด้วย   
            
4 แฮกหลก หลังจากเพระกล้าในแปลงระยะหนึ่ง ประมาณ 30-40 วัน ชาวนาจะ “หลกกล้า” คือถอนต้นกล้าไปปลูก ทั้งนี้การถอนก็ต้องตรวจหาวันที่ดีที่สุด ซึ่งตามตำราระบุว่าควรถอนกล้าในวันอังคาร วันพุธ และวันพฤหัสบดี    
           
5 แฮกปลูก ตามความเชื่อดังเดิม สำหรับชาวล้านนาได้ให้ความสำคัญ พิธีกรรมในการแฮกปลูก เริ่มต้นที่การหาวันดี สำหรับการปลูกโดยทั่วไปถือเอาวันอังคาร วันพฤหัสบดี วันศุกร์ และวันเสาร์ ทั้งนี้จะหลีกเลี่ยงวันที่เรียกว่า “วันถูกปากนก ปากจักแตน” และ “วันผีตามอย” วันถูกปากนก ปากจักแตน มีความหมายถือเป็นวันที่ไม่สมพงศ์กับปากนกและตั๊กแตน ซึ่งเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของสัตรูพืช วันดังกล่าวได้แก่ วันขึ้น  5 6 7 9 12 ค่ำ และแรม 2 6 10 14 ค่ำ ของทุกเดือน ส่วนวันผีตามอย ถือเอาวันขึ้น 1 2 6 7 9 10 11 12 13 14 ค่ำ และแรม 1 2 5 7 8 10 15 ค่ำ เชื่อกันว่าหากแรกปลูกข้าวในวันดังกล่าวผีตามอยจะมาเบียดเบียนให้ต้นกล้าได้รับความเสียหาย ด้านพิธีกรรมในการแฮกปลูก จะประกอบพิธีเซ่นสังเวยเหมือนแฮกนาโดยรวม เพียงแต่ไม้สำหรับเป็นที่แขวนสังวาลที่เรียกกันว่า “คันข้าวแฮก” จะต้องเป็นไม้ที่ขวัญข้าวสถิตย์อยู่ ซึ่งในแต่ละปีขวัญข้าวจะสถิตย์ในต้นไม้ต่างๆ ตามวันสังขานต์ลอง (มหาสงกรานต์) ในแต่ละปี ดังนี้สังขานต์ลอง วันอาทิตย์ ขวัญข้าวอยู่ไม้ไผ่สังขานต์ลอง วันจันทร์ ขวัญข้าวอยู่ไม้มะเดือสังขานต์ลอง วันอังคาร ขัญข้าวอยู่ไม้ซางสังขานต์ลอง วันพุธขวัญข้าวอยู่ไม้ข่อยสังขานต์ลอง วันพฤหัสบดี ขวัญข้าวอยู่ไม้ทองกวางสังขานต์ลอง วันศุกร์ ขวัญข้าวอยู่ไม้พุทราสังขานต์ลอง วันเสาร์ ขวัญข้าวอยู่ไม้รวกเมื่อประกอบพิธีเซ่นสังเวยแล้ว พ่อนาจะปลูกข้าวเอาฤกษ์ก่อน โดยจะเลือกมุมกระทงนาที่เคยหว่านข้าวแฮก ขณะลงมือปลูกจะกล่าวคำโฉลกกำกับลงไป เช่น ปลูกต้นที่ 1 ปลูกหื้องัวแม่ลาย ปลูกต้นที่ 2 ปลูกให้ความยแม่ว้อง ปลูกต้นที่ 3 ปลูกข้าวต้นนี้เปิ้นเสียกู ปลูกต้นที่ 4 ปลูกข้าวต้นนี้เปิ้นฮ้ายกูดี หรือ ใช้คำโฉลกว่า “สุข-ทุกข์” และพยานให้เหลือต้นสุดท้ายว่า “สุข”

6 แฮกเกี่ยวข้าว ในฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ช่วงนี้ชาวนาภาคเหนือจะเอาเครื่องบูชาแม่โพสพซึ่งมี กระจก หวี แป้ง น้ำมันทาผม ปลาย่าง เนื้อยาง หมาก เมี่ยง บุหรี่ ธูปเทียน ดอกไม้ ของหอมนำไปบูชาแม่โพสพที่แท่นนา จากนั้นชาวนาจะหาวันดีก่อน ปล่อยให้นาแห้งเพื่อง่ายต่อการเก็บเกี่ยว แล้วขอขมาแม่โพสพอีกครั้ง โดยของเซ่นประกอบด้วย ข้าว 1 ปั้น กล้วย 1 ลูก หมากเมี่ยง บุหรี่ น้ำดื่ม แล้วอธิษฐานขอเชิญแม่โพสพไปอยู่ที่ยุ้งฉางก่อน แล้วจึงลงมือเกี่ยวข้าว
ที่มา วัฒนธรรมประเพณีไทย ภาคเหนือ สำนักวิจัย ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ pre.brrd.in.th/web

ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเพณีไทยได้ที่นี่ DoFollow