ประเพณีไทย ประเพณีบุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร

ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีไทย อย่างหนึ่งของภาคอีสานของไทยรวมไปถึงชาวลาว โดยมีตำนานมาจากนิทานพื้นบ้านของภาคอีสานเรื่องพระยาคันคาก เรื่องผาแดงนางไอ่
 
ประเพณีบุญบั้งไฟ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญเดือนหก เป็นประเพณีไทยที่จัดขึ้นประจำทุกปี ในช่วงเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะลงมือทำนา สำหรับที่จังหวัดยโสธรจะจัดงานบุญบั้งไฟในวันสุดสัปดาห์ที่ ๒ ของเดือนพฤษภาคม ในวันศุกร์จะเป็นวันที่คณะบั้งไฟทั้งหลายแห่ขบวนเซิ้งเพื่อขอรับบริจาคเงิน ซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และสิ่งของจำเป็นในการร่วมทำบุญ สำหรับวันเสาร์จะเป็นวันแห่ขบวนฟ้อนรำเพื่อการแข่งขันด้านความสวยงามของท่า ฟ้อนในจังหวะต่าง ๆ ตลอดทั้งการตกแต่งบั้งไฟและการจัดขบวนที่สวยงาม ส่วนในวันอาทิตย์จะเป็นวันจุดบั้งไฟ แข่งขันการขึ้นสูงของบั้งไฟ และการที่บั้งไฟสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานจะเป็นเครื่องตัดสินการชนะเลิศ ของการแข่งขัน
 ประเพณีไทย บุญบั้งไฟ
ภาพประกอบจาก http://th.wikipedia.org
ประเพณีบุญบั้งไฟ ตามตำนานประเพณีไทยเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าถือ ชาติกำเนิดเป็นพญาคางคก ได้อาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ในเมืองพันทุมวดี ด้วยเหตุใดไม่แจ้ง พญาแถนเทพเจ้าแห่งฝนโกรธเคืองโลกมนุษย์มาก จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกนานถึง ๗ เดือน ทำให้เกิดความลำบากยากแค้นอย่างแสนสาหัสแก่มวลมนุษย์ สัตว์และพืช จนกระทั่งพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่แข็งแรงก็รอดตายและได้พากันมารวมกลุ่มใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคางคก สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงได้หารือกันเพื่อจะหาวิธีการปราบพญาแถน ที่ประชุมได้ตกลงกันให้พญานาคียกทัพไปรบกับพญาแถน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ จากนั้นจึงให้พญาต่อแตนยกทัพไปปราบแต่ก็ต้องพ่ายแพ้อีกเช่นกัน ทำให้พวกสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดความท้อถอย หมดกำลังใจและสิ้นหวัง ได้แต่รอวันตาย ในที่สุด พญาคางคกจึงขออาสาที่จะไปรบกับพญาแถน จึงได้วางแผนในการรบโดยปลวกทั้งหลายก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงเมืองพญาแถน เพื่อเป็นเส้นทางให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายได้เดินทางไปสู่เมืองพญาแถน ซึ่งมีมอด แมลงป่อง ตะขาบ สำหรับมอดได้รับหน้าที่ให้ทำการกัดเจาะด้ามอาวุธที่ทำด้วยไม้ทุกชนิด ส่วนแมลงป่องและตะขาบให้ซ่อนตัวอยู่ตามกองฟืนที่ใช้หุงต้มอาหาร และอยู่ตามเสื้อผ้าของไพร่พลพญาแถนทำหน้าที่กัดต่อย หลังจากวางแผนเรียบร้อย กองทัพพญาคางคกก็เดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่การรบ มอดทำหน้าที่กัดเจาะด้ามอาวุธ แมลงป่องและตะขาบกัดต่อยไพร่พลของพญาแถนจนเจ็บปวด ร้องระงมจนกองทัพระส่ำระสาย

พญาแถนจึงได้ยอมแพ้และตกลงทำสัญญาสงบศึกกับพญาคางคก ดังนี้
๑. ถ้ามวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อใด ให้พญาแถนสั่งให้ฝนตกในโลกมนุษย์
๒. ถ้าได้ยินเสียงกบ เขียดร้อง ให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว
๓. ถ้าได้ยินเสียงสนู (เสียงธนูหวายของว่าว) หรือเสียงโหวด ให้ฝนหยุดตกเพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว หลังจากที่ได้ สัญญากันแล้ว พญาแถนจึงได้ถูกปล่อยตัวไปและได้ปฏิบัติตามสัญญามาจนบัดนี้

ปัจจุบันงานประเพณีบุญบั้งไฟ มีขึ้นในวันเสาร์ - อาทิตย์ ที่ ๒ ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ณ สวนสาธารณะพญาแถน โดยมีความเชื่อว่าเมื่อจัดงานนี้แล้วเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์

กิจกรรมที่สำคัญในประเพณีบุญบั้งไฟนี้ประกอบด้วย
วันแรก จะมีการจัดขบวนแห่บั้งไฟ ตกแต่งไปตามถนนภายในเขตเทศบาลเมือง การประกวดธิดา บั้งไฟโก้ การจัดงานเลี้ยงพาข้าวแลง และการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง
วันที่สอง จะมีการแข่งขันการจุดบั้งไฟ
บั้งไฟแต่ละอันที่มาเข้าขบวนแห่ จะถูกตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามด้วยลวดลายไทย สีทอง ว่ากันว่าศิลปะการตกแต่งบั้งไฟนี้ นายช่างจะต้องสับ และตัดลวดลายต่าง ๆ นี้ไว้เป็นเวลาแรมเดือน แล้วจึงนำมาทากาวติดกับลูกบั้งไฟ ส่วนหัวบั้งไฟนั้นจะทำเป็นรูปต่าง ๆ ส่วนมากนิยมทำเป็นรูปหัวพญานาคอ้าปากแลบลิ้นพ่นน้ำได้ บ้างก็ทำเป็นรูปอื่น ๆ แต่ก็มีความหมายเข้ากับตำนานในการขอฝนทั้งสิ้น ตัวบั้งไฟจะนำไปตั้งบนฐาน ใช้รถหรือเกวียนเป็นพาหนะนำมาเดินแห่ตามประเพณี

บั้งไฟที่จัดทำให้มีหลากชนิด คือ มีทั้งบั้งไฟกิโล บั้งไฟหมื่น และบั้งไฟแสน บั้งไฟกิโลนั้นหมายถึง น้ำหนักของดินประสิว ๑ กิโลกรัม เมื่อตกลงกันว่าจะทำบั้งไฟขนาดไหนก็หาช่างมาทำ หรือที่มีฝีมือก็ทำกันเอง ช่างที่ทำบั้งไฟนั้นสำคัญมาก ช่างจะต้องเป็นผู้มีฝีมือในการคำนวณผสมดินประสิวกับถ่านไม้ เพราะถ้าไม่ถูกสูตรบั้งไฟก็จะแตก คือ ไม่ขึ้นสู่ท้องฟ้า สำหรับไม้ที่จะนำมาทำเสาบั้งไฟนั้น จะตัดเอาแต่ที่โคนต้น เพราะมีความหนาและเหนียว ความยาวนั้นแล้วแต่จะตกลงกัน ในวันรุ่งขึ้นเป็นการจุดบั้งไฟ จะมีการแบกบั้งไฟไปยังฐานยิงในที่โล่ง ถ้าบั้งไฟของใครจุดแล้วยิงไม่ขึ้น คนทำจะถูกจับโยนลงในโคลน ซึ่งเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติสืบกันมา

งานประเพณีบุญบั้งไฟ  เป็นงานประเพณีไทยท้องถิ่นของชาวอีสาน  ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และ ความเชื่อทางศาสนาของชาวอีสานมาช้านาน โดยเฉพาะชาวนาที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทำนามาช้านาน ต้องอาศัยข้าวในการเลี้ยงและ  ดำรงชีวิตมาโดยตลอด  น้ำฝนจากฟ้าจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  ประเพณีบุญบั้งไฟ จึงเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ งานประเพณีบุญบั้งไฟจึงถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเป็นความหวัง และกำลังใจของชาวอีสาน
ที่มา ประเพณีไทยท้องถิ่น จังหวัดยโสธร - วิถีชีวิต  ประเพณีบุญบั้งไฟ

ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

1 ความคิดเห็น:

asmmee said...

บล็อกสวยดีครับ

Post a Comment

แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเพณีไทยได้ที่นี่ DoFollow